เมื่อสิบปีที่แล้วผมและเพื่อนสนิททำงานนอกด้วยกันที่บ้านของเพื่อนจนเกือบเช้า เราสองคนออกมาพักและยืนคุยกันหน้าบริษัทซึ่งเป็นตึกแถวคูหาเล็กๆ
ผมถามว่า “มึงลาออกจากงานประจำแล้วมารับงานนอกแบบนี้ มันได้เงินไม่แน่นอนนะ เงินเดือนที่เดิมก็ดี ตำแหน่งก็สูง ถือว่าดีกว่าเพื่อนๆในรุ่นหลายคน ไม่คิดเสียดายเหรอวะ?”
เพื่อนผมบอกว่า ไม่เสียดาย ไม่อยากเสียเวลาเป็นลูกจ้าง และอยากจะมีบริษัทของตัวเอง ถ้าไปไม่รอดจริงๆ ก็ยังมีแรงลุกขึ้นมาสร้างใหม่ได้ อายุยังน้อย เป้าหมายในชีวิตคือต้องมีธุรกิจของตัวเองให้ได้
เพื่อนผมยังเล่าให้ฟังอีกว่า บริษัทที่เคยทำงานอยู่ เริ่มต้นจากเอาโรงจอดรถในบ้านมาดัดแปลงทำเป็นออฟฟิศ จากคนทำงานไม่ถึงสิบคน เวลาผ่านไปสามสิบปี ตอนนี้มีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นหลายร้อยคน ย้ายไปอยู่ใจกลางธุรกิจของเมือง และติดอันดับหนึ่งในสามบริษัทออกแบบตกแต่งภายในที่ดีที่สุดในประเทศไทย
เราเห็นผู้คนมากมายในโลกที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นผู้นำด้านงานออกแบบ และอื่นๆอีกมากมาย กว่าคนพวกนั้นจะมายืนอยู่ในจุดนี้ได้ คนเหล่านั้นต้องเริ่มต้นตัดสินใจชีวิตด้วยความเสี่ยงทั้งนั้น และไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางจะเป็นเช่นไร
อย่างเช่นผลงานออกแบบคอนโดมิเนียม รีเฟล็คชั่น แอด เคปเปิล เบย์ (Reflections at Kepple Bay) ประเทศสิงคโปร์ ของสถาปนิก แดเนียล ลิเบสกิน (Daniel Libeskind) ที่ไม่ได้เปลี่ยนแค่ที่พักอาศัย เขายังเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของเมืองทั้งเมืองด้วยการออกแบบอาคารที่พักอาศัย ที่คนทั่วโลกอยากมาชมมากที่สุด
ตัวอาคารที่ดูเหมือนฝูงเรือใบกำลังแล่นอยู่ในมหาสมุทร และที่ตั้งของโครงการเองก็อยู่ติดริมทะเล ดังนั้นตัวสถาปัตยกรรมเองจึงสามารถสะท้อนเนื้อหาของงานออกมาได้ดี มีอัตลักษณ์ชัดเจน ครั้งแรกที่เห็น รู้สึกว่าสร้างได้ยังไงเนี่ยตึกเอียงขนาดนี้ ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน สถาปนิกคนนี้ช่างกล้าเสี่ยงในสิ่งที่ไม่เคยมีใครบนเกาะสิงคโปร์กล้าทำมาก่อน
ถ้าศึกษาแนวความคิดของแดเนียล จะรู้ว่าหนึ่งในหลักการออกแบบของเขา คือ ความเสี่ยง แดเนียลกล่าวไว้บนเวทีของ TED ปี 2009 ว่า “เรื่องของความเสี่ยง ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมต้องกล้าเสี่ยง แน่นอนว่ามันจะต้องใช้เงินมหาศาล แต่อย่างไรก็ตาม สถาปัตยกรรมไม่ควรกลัวความล้มเหลว เพราะหากว่ากลัวแล้ว มันจะไม่สามารถนำเราไปในทิศทางที่ต้องการได้ แน่นอนผมคิดว่า ความเสี่ยงเป็นพื้นฐานของโลก โลกปราศจากความเสี่ยงเป็นโลกที่ไม่ควรค่าแก่การอยู่…..ความเสี่ยงที่ขับเคลื่อนสถาปัตยกรรม ถึงแม้ว่าจะมีข้อบกพร่อง ก็ยังดีกว่าสิ่งที่ถูกทำซ้ำๆ สิ่งสำเร็จรูปที่ไร้คุณค่า”
ดูเหมือนว่างานสร้างชื่อให้กับสถาปนิกคนนี้ แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากความเสี่ยง ทำให้งานของเขามีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมืองเดนเวอร์, พิพิธภัณฑ์ชาวยิวเมืองเบอร์ลิน เป็นต้น ในการประกวดแบบงานใหญ่ๆระดับโลกที่ต้องการความแตกต่างและน่าตื่นเต้น จะต้องมีแดเนียล ลิเบสกิน อยู่ในรายชื่อหลักเสมอ เพราะเขาทำสิ่งที่หลุด ถ้าแดเนียลไม่เสี่ยงและท้าทายตัวเองออกแบบตึกรูปร่างแตกต่างจากขนบประเพณีเดิมๆ ก็คงไม่มีใครรู้จักและมีชื่อเสียงอย่างทุกวันนี้
สิบปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ทุกวันนี้เพื่อนผมย้ายที่ตั้งบริษัทจากตึกแถวไปอยู่บนตึกสูง เห็นวิวกรุงเทพทั้งเมือง มีพนักงานในบริษัทหลายสิบคน และเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านงานออกแบบจนได้รับรางวัลออกแบบจากเวทีในต่างประเทศมาแล้ว
แน่นอนว่า เพื่อนผมและแดเนียลไม่รู้ผลลัพธ์ในอนาคตว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ผลักดันทั้งสองคนให้ลงมือทำ คือ ความกล้า เพื่อนผมยังบอกว่า
“ความเสี่ยงที่สุดในชีวิต คือ เสี่ยงไม่ทำอะไรเลย การอยู่เฉยๆ นั่นแหละโคตรเสี่ยงที่สุดในชีวิต”
ผมคิดว่าไม่มีใครสามารถคาดเดาอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราเสี่ยงที่จะทำในสิ่งที่รักและหลงใหลมันจริงๆ สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ย่อมจะเกิดขึ้นแน่นอน ถ้าชีวิตยังมีลมหายใจ ทำไมเราไม่ลองมาเสี่ยงกันสักตั้งดู!!!